OASIS TERRACES อาคารที่มีหลังคาเป็นสวนเขียวและทางลาด มุ่งเน้นอารยสถาปัตย์เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียม


2019-08-20 14:35

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน : 194

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่สิงคโปร์ทำให้เราในฐานะผู้มาเยือนรู้ซึ้งถึงคำว่า ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ของประชากรในประเทศของเขานั้นเป็นอย่างไร

     คุณภาพชีวิตที่ดีที่ว่านี้วัดได้จากระบบสาธารณูปโภคอันเอื้ออำนวยครอบคลุมทั้งการวางผังเมืองที่กระจายความเจริญให้อยู่ทุกหย่อมทุกย่าน ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง มีการวางระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อทั่วเมืองและเข้าถึงพื้นที่รอบ ๆ ที่พักอาศัยได้โดยง่ายแม้ย่านนั้นอาจไม่ใช่ย่านดาวน์ทาวน์ก็ตามที ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้รายล้อมพื้นที่สาธารณะของเมืองแทบจะทุกตารางเมตร แม้กระทั่งบนหลังคาของตึกเช่นที่เราขึ้นมายืนอยู่ครั้งนี้อย่าง Oasis Terraces ที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปลายปี 2018

Oasis Terraces ตั้งอยู่ในเขตปังกอลล์ (Punggol) ทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะที่สามารถนั่งรถไฟฟ้า MRT สาย North-East Line มาจนสุดปลายสายที่สถานี Punggol แล้วเปลี่ยนขบวนเสริมต่อมาลงที่สถานี Oasis (Oasis LRT station) ซึ่งจะมาหยุดจอดเชื่อมกับทางเข้าด้านหน้าของโครงการโดยตรงในระยะเวลารวมกันไม่ถึงครึ่งชั่วโมงดีนัก โดยระยะเวลาเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับระยะทางจากต้นสถานี ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ของเราเริ่มต้นสายจาก Dhoby Ghaut MRT Station

Oasis Terraces คืออีกหนึ่งโครงการที่ตอกย้ำให้ลึกลงไปอีกว่าสิงคโปร์มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการเปลี่ยนเมืองคอนกรีตสู่การเป็นเมืองในป่าเพียงใด แถมยังแสดงให้เมืองที่ยังไม่เห็นคุณค่าของต้นไม้ได้เห็นว่าพื้นที่สีเขียวที่กระจายตัวอยู่ในทุกหย่อมทุกย่าน ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้จริง ๆ

สำหรับ Singapore Housing & Development Board ในฐานะเจ้าของโครงการ พวกเขาสร้างตึกนี้ขึ้นมาโดยหวังว่ามันจะกลายเป็นหัวใจของชุมชนและผู้คนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ กลายเป็นพื้นที่ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการทำกิจกรรมสาธารณะทั้งพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย ที่สำคัญมันเป็นเหมือนพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนที่เชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าลงมาสู่ที่พักอาศัย ซึ่งภายในพื้นที่มีทั้งโพลีคลินิก ร้านค้า ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกคอยให้บริการครบครัน นั่นหมายความว่าชาวเมืองในย่านปังกอลล์ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าตัวเมืองไปหาของกิน จับจ่ายซื้อของ หรือไปออกกำลังกายให้ยุ่งยาก แต่สามารถทำทั้งหมดนั้นได้ที่นี่ ไม่ไกลจากประตูบ้านของพวกเขาเอง

     ในด้านการออกแบบ Serie Architects บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมจากลอนดอน, สหราชอาณาจักร และ Multiply Architects สตูดิโอเจ้าบ้าน คือผู้รับผิดชอบร่วมกันในการออกแบบพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ โดยมี WNE Integrated Design เป็นทีมออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์รอบพื้นที่สอดรับไปกับสภาพแวดล้อมที่มีต้นไม้ขึ้นแซมข้างคูคลองสองฝั่งน้ำ ลามขึ้นไปถึงหลังคาของตึกอย่างที่เราบอกไว้ โดยที่บนพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดกว่า 27,400 ตารางเมตร ของอาคารถูกแบ่งสรรปันส่วนเป็นพื้นที่สำหรับคนรักสุขภาพรวมกว่า 9,400 ตารางเมตร รวมไปถึงมีสนามเด็กเล่น ห้องออกกำลังกายที่ครบครันด้วยอุปกรณ์ พื้นที่การเรียนรู้ และสวนของชุมชนที่ถูกเสริมเติมเต็มเข้ามานอกเหนือไปจากร้านค้า และร้านอาหาร ที่ทุกโครงการย่อมพึงมีอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน

     ที่นี่นอกจากหลังคาจะทำหน้าที่ปกคลุมตัวตึก พร้อมด้วยมีต้นไม้ช่วยทำหน้าที่ปกคลุมส่วนหลังอีกชั้นหนึ่งแล้ว หลังคาที่ว่านั้นยังทำหน้าที่เป็นทางลาดและบันไดขึ้น-ลงที่ไต่ระดับจากชั้นล่างสุดขึ้นไปจรดชั้นบนสุด

     ทั้งนี้เจ้าของโครงการและผู้ออกแบบต่างมุ่งมั่นให้อาคารแห่งนี้กระตุ้นให้เกิดการหลอมรวมกันของคนกับธรรมชาติผ่านการเข้ามาใช้พื้นที่ในสวนระเบียงและสวนดาดฟ้าอันเป็นจุดเด่นของโครงการนี้ โดยพยายามสร้างความต่อเนื่องระหว่างพื้นที่ให้แต่ละส่วนสามารถเข้าถึงได้โดยตรงจากทางลาด อันเป็นตัวเชื่อมให้เกิดรอยต่อที่ไร้รอยต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก ให้ผู้คนสามารถเดินขึ้นตึกโดยไม่ต้องผ่านเข้าด้านในตัวตึกอย่างง่ายดาย ตลอดจนเอื้อสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการออกมานั่งพัก รับประทานอาหาร เรียนรู้ และรองรับบริการสำหรับโพลีคลินิก รวมถึงเปิดโอกาสให้ที่นี่เป็นดั่งสวนคนเมืองซึ่งมีแปลงผักสำหรับเพาะปลูกให้จับจอง ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามทั้งด้านสุนทรียภาพและการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโครงการกับชุมชนที่ผู้คนในละแวกนี้จะกลายมาเป็นทั้งผู้ใช้งานและเป็นผู้บำรุงรักษาร่วมกัน

     แต่ถึงกระนั้นไม่เพียงแค่ Oasis Terraces อาคารเดียวที่มีการออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรมโดยมุ่งเน้นอารยะสถาปัตย์เป็นสำคัญ อีกหนึ่งโครงการมิกซ์ยูสซึ่งมีทั้งที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และสำนักงานรวมกันอย่าง Marina One ในใจกลางย่านธุรกิจของสิงคโปร์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ออกแบบให้หัวใจของอาคารเป็นคอร์ตยาร์ดเขียวชอุ่ม และเด่นด้วยรูปทรงฟรีฟอร์มไหลลื่นของทางลาดและกันสาดที่ค่อย ๆ ไล่ระดับขึ้นไปทีละชั้น เป็นต้น

     จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ โครงการที่ถูกสร้างขึ้นในประเทศแห่งนี้ล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานการออกแบบเพื่อเอื้ออำนวยให้คนทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เหมือนเป็นการตั้งค่าพื้นฐานในการออกแบบไปแล้วก็ว่าได้

ก็เหมือนกับที่เราจั่วหัวเอาไว้ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่สิงคโปร์ทำให้เราในฐานะผู้มาเยือนรู้ซึ้งถึงคำว่า ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ของประชากรในประเทศของเขานั้นเป็นอย่างไร กลับมาใหม่กี่ครั้งยิ่งเห็นภาพความเป็นเมืองในป่าที่ชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้นเรื่อย ๆ

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก บ้านและสวน