10 วิธีทำให้ลูกหยุดร้องไห้ พร้อมเคล็ดลับปลอบลูกน้อยเมื่องอแง


2019-08-05 23:52

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน : 196

การเลี้ยงทารกแรกเกิดถือว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เพราะนอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องปรับตัวกับการเลี้ยงลูกแล้ว ยังต้องพบเจอกับเหตุการณ์และบททดสอบใหม่ ๆ ไม่ซ้ำวัน ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องค่อย ๆ เรียนรู้กันไปพร้อมกับการเติบโตของลูก โดยเฉพาะการเลี้ยงเด็กทารกแรกเกิดที่ยังไม่สามารถบ่งบอกความต้องการออกมาเป็นคำพูดได้ว่าเขาต้องการอะไร การร้องไห้ของทารกจึงเป็นการสื่อสารให้พ่อแม่ได้รับรู้ แต่ทว่าเด็กบางคนก็ร้องไห้งอแงเสียจนทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความเครียดและเป็นกังวล เพราะไม่เข้าใจว่าลูกต้องการอะไร ร้องไห้ทำไม และต้องทำอย่างไรลูกถึงจะหยุดร้องไห้

     ทั้งนี้ต้นเหตุที่ทำให้ทารกร้องไห้ อาจเกิดมาจากความหิว ความง่วง ปวดท้อง ท้องอืด ผ้าอ้อมเปียกชื้น ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว อยากให้พ่อแม่อุ้ม หรืออาจฟันขึ้นก็เป็นได้ ทั้งนี้การปลอบลูกน้อยให้หยุดร้องไห้งอแงนั้นก็มีหลากหลายวิธีด้วยกัน แต่ถ้าให้นมแล้ว กล่อมนอนแล้ว หรือแม้แต่เปลี่ยนผ้าอ้อมก็แล้ว เจ้าตัวน้อยก็ยังคงร้องไห้ไม่หยุด กระปุกดอทคอมก็มีเคล็ดลับดี ๆ ด้วย 10 วิธีทำให้ลูกน้อยหยุดร้องไห้ มาฝากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกคนกันแล้ว มาดูกันค่ะว่าจะมีวิธีรับมือกับเด็กร้องไห้อย่างไรได้บ้าง

  • อุ้มลูกไว้ในอ้อมกอด

     สัมผัสรักจากการอุ้มและการกอดของพ่อแม่ช่วยทำให้ลูกน้อยหยุดร้องไห้และสงบลงได้ โดยอุ้มลูกน้อยให้ซบหน้าอยู่กับอกหรือไหล่พร้อมกับเดินไปมา หรือนั่งบนเก้าอี้โยก หรืออาจใช้เป้อุ้มลูกมาช่วยแบ่งเบาความเมื่อยของคุณพ่อคุณแม่ไปได้บ้าง พร้อมกับอุ้มลูกน้อยเดินเล่นรอบ ๆ บ้าน การที่ทารกถูกอุ้มและเคลื่อนไหวไปมาแบบนี้จะทำให้เขารู้สึกเพลิดเพลิน ไม่งอแง

  • อุ้มลูกในท่าซูเปอร์แมน

     คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่าการอุ้มลูกในท่าซูเปอร์แมน หรือการจับลูกน้อยนอนคว่ำแล้วค่อย ๆ เคลื่อนไหวไปคล้ายท่าซูเปอร์แมนบินนั้น ถือเป็นท่าอุ้มทารกให้หยุดร้องไห้ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที โดยอุ้มลูกให้นอนคว่ำบนแขนทั้งสองข้าง แล้วค่อย ๆ โยกเบา ๆ ไปทางซ้ายและขวา การอุ้มแบบนี้จะมีการเปลี่ยนระดับการเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้ลูกรู้สึกเหมือนกำลังลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำ รู้สึกถึงความคุ้นเคยขณะที่อยู่ในครรภ์แม่ จึงทำให้ลูกน้อยหยุดร้องไห้ได้เร็วนั่นเองค่ะ

  • ห่อตัวลูกน้อยด้วยผ้า

     การห่อตัวลูกน้อยด้วยผ้าก็สามารถช่วยให้ลูกเลิกร้องไห้งอแงได้เช่นกัน เพราะเป็นวิธีที่ทำให้พวกเขารู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเหมือนตอนอยู่ในครรภ์ โดยคุณแม่สามารถใช้ผ้าห่อตัวชนิดใดก็ได้ที่ไม่หนามากเกินไป ห่อตั้งแต่ช่วงลำตัว แขน ขา เมื่อห่อแล้วควรให้ลูกนอนหงายเท่านั้น ที่สำคัญไม่ควรห่อตัวลูกแน่นเกินไป ให้ลูกได้ขยับขาและสะโพกเล็กน้อย หากห่อตัวแน่นไปอาจทำให้ลูกขางอได้หรือมีสรีระที่ผิดปกติได้ค่ะ

  • นวดสัมผัสลูกน้อย

     การนวดสัมผัสนอกจากจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ร้องไห้งอแงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นระบบประสาทในสมอง ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ ทั้งยังช่วยส่งผ่านความรัก ความอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย ไม่เพียงแต่การนวดจะทำให้ลูกอารมณ์ดีแล้ว ยังช่วยปรับอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่และลดความตึงเครียดได้ดีอีกด้วย

  • เบี่ยงเบนความสนใจ

     อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ได้ก็คือการเบี่ยงเบนความสนใจนั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงแปลก ๆ การเล่นจ๊ะเอ๋กับคุณพ่อคุณแม่หรือตุ๊กตาต่าง ๆ รวมไปถึงของเล่นที่ส่งเสียง เช่น ตุ๊กตาบีบ หรือของเล่นที่มีเสียงกุ๊งกิ๊ง ๆ หรือแม้แต่การเล่นกับกระจกเงาก็ช่วยดึงดูดความสนใจจากลูกน้อยได้เช่นกัน วิธีนี้จะทำให้ลูกสนใจกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า และลืมไปว่ากำลังร้องไห้งอแงอยู่

  • ร้องเพลงหรือพูดกล่อมลูก

     ขณะที่คุณพ่อคุณแม่กำลังอุ้มปลอบลูกน้อยอยู่นั้น ลองพูดคุยหรือร้องเพลงกล่อมเขาเบา ๆ ดูสิคะ น้ำเสียงของพ่อแม่และท่วงทำนองของเพลงจะช่วยดึงดูดความสนใจ หรืออาจทำเสียงชู่วใกล้ ๆ หูลูกที่กำลังร้องไห้อยู่ ก็ช่วยเรียกความสนใจและทำให้ลูกหยุดร้องไห้ได้เช่นกันค่ะ

  • เปิดเสียงรบกวนต่าง ๆ (White Noise)

     ลองเปิดเสียงรบกวนต่าง ๆ เพื่อเลียนแบบเสียงหึ่ง ๆ ที่ลูกได้ยินตอนอยู่ในครรภ์ เช่น เสียงของพัดลม เครื่องดูดฝุ่น ไดร์เป่าผม เครื่องซักผ้า ไปจนถึงเสียงฝนตก และเสียงคลื่นทะเล ซึ่งเสียงเหล่านี้จะช่วยดึงดูดความสนใจของลูกจากการร้องไห้งอแง และช่วยทำให้เจ้าตัวน้อยสงบและผ่อนคลายลงได้

  • ออกไปเปิดหูเปิดตาข้างนอก

     ลองพาลูกน้อยออกไปเปลี่ยนบรรยากาศข้างนอกบ้านดูบ้าง โดยอาจจะพาไปนั่งรถเล่นนอกบ้าน หรือพาลูกนั่งรถเข็นเด็ก แล้วเข็นไปรอบ ๆ บ้าน ให้เขาได้เห็นสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ รอบตัวที่ช่วยเรียกความสนใจและหยุดอาการงอแงลงได้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้คน สิ่งของ ต้นไม้ หรือสัตว์ต่าง ๆ

  • ใช้จุกหลอก

     การดูดช่วยทำให้ทารกรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และเพลิดเพลิน ซึ่งการให้ลูกดูดจุกหลอกจะช่วยลดอาการงอแง ทำให้ลูกหลับง่าย ช่วยลดความเสี่ยงในการกินนมมากเกินไป อย่างไรก็ตามไม่ควรให้ลูกดูดจุกหลอกเป็นเวลานาน เมื่อลูกมีอายุ 1 ขวบหรือเริ่มมีฟันขึ้นแล้ว ก็ควรให้ลูกดูดจุกหลอกน้อยลงจนสามารถเลิกดูดจุกหลอดได้ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับรูปฟัน ช่องหู ช่องคอ ไปจนถึงปัญหาด้านการพูดได้ค่ะ

  • จับลูกเรอ

     สาเหตุที่ลูกร้องไห้อาจเกิดมาจากความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวจากลมที่อยู่ในท้องหลังจากกินนมแม่อิ่ม ดังนั้นหลังลูกกินนมอิ่มให้คุณแม่จับลูกเรอด้วยการอุ้มพาดบ่าแล้วใช้มือลูบหลังลูกเบา ๆ หรืออาจให้ลูกนั่งบนตัก แล้วใช้มือประคองช่วงคางลูกไว้ อุ้งมือของคุณแม่จะช่วยนวดท้องลูกเพื่อไล่ลมออก ส่วนมืออีกข้างให้ลูบหลังเบา ๆ จากนั้นลูกน้อยก็จะค่อย ๆ เรอออกมาค่ะ

     การร้องไห้งอแงของเด็กทารกนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา ยังไงแล้วคุณพ่อคุณแม่ลองนำเทคนิคเคล็ดลับที่เรานำมาฝากนี้ไปใช้กับเจ้าตัวน้อยดูนะคะ อาจต้องมีลองผิดลองถูกกันบ้าง ค่อย ๆ เรียนรู้และปรับใช้กันไป หากมีวิธีไหนที่ใช้ได้ผลอย่างไร ก็อย่าลืมมาบอกเล่ากันบ้างนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก Kapook