โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวชที่คุกคามคนทั่วโลก และอาการป่วยอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้คิดสั้นฆ่าตัวตายได้ มาตรวจเช็กอาการพร้อมวิธีรักษากัน
โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยไม่ได้เป็นบ้าและไม่ได้เป็นคนไม่ดี แต่เป็นคนที่มีอาการป่วยทางอารมณ์อย่างหนึ่งซึ่งต้องการการรักษา เพราะหากปล่อยไว้ ผู้ป่วยอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ เพราะมีสถิติที่ระบุว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า
ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แล้วคาดการณ์ว่า ในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอันดับที่ 2 รองลงมาจากโรคหัวใจหลอดเลือด เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่กดดันการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น
ขณะที่ประเทศไทยเอง กรมสุขภาพจิตก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้ เพราะได้เฝ้าจับตามองสถานการณ์โรคซึมเศร้ามาตลอด โดยจากข้อมูลในปี 2559 พบว่ามีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 12 ล้านคน และเป็นผู้ที่ไม่ได้พบแพทย์มากกว่า 1 ล้านคน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล
โรคซึมเศร้าคืออะไร
โรคซึมเศร้าคือโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล จึงต้องได้รับการรักษาโดยเร็วด้วยการปรึกษาจิตแพทย์
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าคือโรคทางจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองชื่อ เซโรโทนิน (Serotonin) มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด รู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบให้ความสามารถในการทำงานลดลง
ทั้งนี้ สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้ามาจากหลายปัจจัย ทั้งจากด้านกรรมพันธุ์ พัฒนาการของจิตใจ และสิ่งแวดล้อมที่เผชิญ เช่น ประสบกับความเครียดหนัก ๆ เจอมรสุมชีวิต เจ็บป่วยเรื้อรังจนหมดกำลังใจ พบกับความสูญเสียในชีวิต เช่น การพลัดพรากจากพ่อแม่ในวัยเด็ก สูญเสียคนรัก ครอบครัว ตกงาน ปัญหาเรื่องการเงิน ต้องย้ายบ้านกะทันหัน ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น และหากเจอกับเหตุการณ์หรือความรู้สึกเหล่านั้นบ่อย ๆ ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัว ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ปัจจัยทางพันธุกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เพราะโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากมีญาติเป็น แล้วเราจะเป็นไปด้วย เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่ามีปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้นมากระตุ้นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดี ผู้หญิงมักประสบกับภาวะนี้มากกว่าผู้ชายถึง 70% และมักเริ่มต้นเมื่อราวอายุ 32 ปี
อาการโรคซึมเศร้า
อาการแสดงของโรคซึมเศร้าในแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไปในลักษณะนี้
+ มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
+ ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
+ น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
+ นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
+ กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
+ อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
+ รู้สึกตนเองไร้ค่า
+ สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
+ คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
* ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ
* ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่
ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่เป็นหนักต้องระวังให้มาก เพราะมีโอกาสคิดสั้นฆ่าตัวตายสูงมาก หากมีเรื่องมากระทบจิตใจเพียงนิดเดียว โดยจากสถิติพบว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายมากกว่าร้อยละ 60 ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วย
อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังป่วยมาได้นานเท่าไรไม่สามารถบอกได้ เพราะในบางคนป่วยมาแล้ว 1-2 ปีถึงออกอาการ แต่บางคนป่วยแค่ 6 เดือนก็รู้ตัวแล้ว จึงสามารถรักษาให้หายได้
โรคซึมเศร้า สลับกับอารมณ์ดีผิดปกติ (Bipolar disorder)
มีโรคทางอารมณ์อีกชนิดหนึ่งคือ โรคไบโพลาร์ คนที่เป็นโรคชนิดนี้เมื่อป่วยขึ้นมาจะมีอาการได้ 2 แบบ คือ แบบซึมเศร้า และแบบตรงข้ามกับซึมเศร้า เวลาที่มีอาการแบบซึมเศร้า (depressive episode) ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนโรคซึมเศร้าทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้า (manic episode) ผู้ป่วยจะอารมณ์ดีผิดปกติ มีความสุขมาก พูดมาก หัวเราะเก่ง ใจดี ใช้เงินเปลือง มีโครงการใหญ่ ๆ โต ๆ ผุดขึ้นมาในหัวเต็มไปหมด บางรายก้าวร้าวเที่ยวไปก้าวก่ายคนอื่น บางรายมีความต้องการทางเพศมาก บางรายมีอาการหลงเชื่อผิด ๆ ด้วย เช่น คิดว่าตนเป็นซูเปอร์แมนมาพิทักษ์ชาวโลก
ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าสลับกับอารมณ์ดีผิดปกตินี้ต้องการการรักษาด้วยยาที่ต่างไปจากโรคซึมเศร้าธรรมดา ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า แพทย์มักจะถามว่าเคยมีช่วงที่อารมณ์ดีผิดปกติหรือไม่ เพื่อช่วยแยกโรคให้ถูกต้อง
แบบทดสอบโรคซึมเศร้า
หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดอาจมีอาการโรคซึมเศร้า ลองดูแบบทดสอบต่อไปนี้ จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่จะช่วยให้เราวินิจฉัยได้เบื้องต้นว่ากำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่หรือไม่ โดยให้ตอบคำถามว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณมีอาการหรือความคิดในลักษณะนี้บ้างหรือไม่
ถ้าตอบว่า "มี" ตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไป หมายถึง มีภาวะซึมเศร้า ควรได้รับบริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือพบแพทย์เพื่อการบำบัดรักษา
รักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างไร
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยหลายวิธี ดังนี้
- รักษาโรคซึมเศร้าด้วยยา
การรักษาหลักในปัจจุบันก็คือ การให้ยาแก้โรคซึมเศร้า (antidepressant drugs) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด มีทั้งชนิดที่ทำให้ง่วงและที่ไม่ง่วง ยาแก้โรคซึมเศร้าจะไม่ทำให้เกิดการเสพติด และผู้ป่วยสามารถหยุดยาได้เมื่อหมดความจำเป็น
ทั้งนี้ ยาแก้โรคซึมเศร้าไม่ได้ออกฤทธิ์เพียงแค่ลดความกังวล แต่จะออกฤทธิ์ทำให้อารมณ์หายซึมเศร้าจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า ต้องรับประทานยาต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จึงเริ่มเห็นว่าอารมณ์แจ่มใสขึ้น และมักต้องใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ยาจึงจะออกฤทธิ์เต็มที่ เมื่อหายแล้วผู้ป่วยจะกลับเป็นคนเดิม และแพทย์จะให้ยาต่ออีกอย่างน้อย 6 เดือน แต่ในรายที่เป็นบ่อยแพทย์อาจพิจารณาให้ยานานกว่านั้น
ยาแก้เศร้าอาจแบ่งคร่าว ๆ ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่มีโครงสร้างเป็นแบบ tricyclic และยากลุ่มใหม่ซึ่งสังเคราะห์ขึ้นมาในช่วงไม่นานมานี้ ข้อดีของยาในกลุ่ม tricyclic คือ เป็นยาที่ใช้ในการรักษามานานจนทราบกันดีถึงอาการข้างเคียงของยาแต่ละตัว ประสิทธิภาพเป็นที่ยืนยันแน่นอน ทั้งในการรักษาระยะเฉียบพลันและการป้องกันระยะยาวและราคาถูก
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการรักษาของยาแก้โรคซึมเศร้าแต่ละตัวนั้นไม่ต่างกัน ความแตกต่างอยู่ที่ฤทธิ์ข้างเคียง ซึ่งรวมถึงยาในกลุ่มใหม่ด้วยเช่นกัน ในการเลือกใช้ยาเราพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้ตามลำดับ
หากเป็นผู้ป่วยที่เคยป่วยและรักษาหายมาก่อน ประวัติการรักษาเดิมมีความสำคัญ โดยผู้ป่วยมักตอบสนองต่อยาตัวเดิม และขนาดเดิมที่เคยใช้ ดังนั้นจึงควรใช้ยาขนานเดิมเป็นตัวแรก
- รักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่ใช้ยา
* เปลี่ยนความคิดพิชิตความเศร้า
คนที่กำลังเศร้าจะมองโลกในแง่ร้าย และคนที่มองโลกในแง่ร้ายก็จะซึมเศร้าได้ง่าย เป็นวัฏจักรที่ทำให้ภาวะซึมเศร้าเป็นอยู่นาน ดังนั้นเมื่อเกิดอารณ์ซึมเศร้าขึ้นมา ให้ผู้ป่วยลองหยุดเศร้าสักประเดี๋ยวแล้วมองย้อนกลับไปว่าตะกี้เกิดอะไรขึ้น และเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นมันมีความคิดอะไรแวบขึ้นมาในสมอง แล้วลองพิจารณาว่าความคิดอันนั้นมันถูกต้องแค่ไหน ถ้าคิดได้ว่ามันไม่ค่อยสมเหตุผลเท่าไรอารมณ์จะดีขึ้นทันที อย่างน้อยก็จนกว่าจะเผลอไปคิดอะไรในแง่ร้ายอีก แต่ถ้าคิดแล้วรู้สึกว่ามันก็สมเหตุผลดีก็ค่อยคิดต่อว่า แล้วจะทำอย่างไรกับเรื่องนั้นดี
* เปลี่ยนพฤติกรรม
ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ามักไม่อยากทำอะไร หมดเรี่ยวแรง นั่ง ๆ นอน ๆ แต่ในสมองจะคิดไปเรื่อยและมักคิดแต่เรื่องร้าย ๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งลุกไม่ขึ้น ให้แก้โดยการหาอะไรทำ หาอะไรที่ได้ลงไม้ลงมือทำ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นงานที่สำคัญขอให้ได้ลงมือทำเป็นใช้ได้ เช่น จัดตู้หรือลิ้นชักที่รก ๆ เอาของที่แตกที่หักมาลองซ่อมดู เช็ดรถ รดน้ำต้นไม้ แย่งงานคนใช้ทำ ฯลฯ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ความคิดฟุ้งซ่านจะลดลงและอารมณ์จะดีขึ้น
- รักษาโรคซึมเศร้าด้วยไฟฟ้า (ECT, electroconvulsive therapy)
ในรายที่เป็นมากหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมาก ๆ แพทย์จะให้การรักษาด้วยไฟฟ้า เครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านสมองทำให้ผู้ป่วยเกิดการชัก (convulsion) ภาวะซึมเศร้าจะหายได้อย่างรวดเร็ว (ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์) การรักษาด้วยไฟฟ้าในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูงมาก แต่เนื่องจากสังคมได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดจากสื่อต่าง ๆ ทำให้การรักษาแบบนี้ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกัน แพทย์จึงจะใช้การรักษาแบบนี้ในรายที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
เหตุผลดี ๆ ที่คุณควรรักษาโรคซึมเศร้า
บทบาทของครอบครัวต่อโรคซึมเศร้า
ครอบครัวและญาติพี่น้องถือเป็นคนสำคัญในทีมรักษา การคอยให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้จะช่วยได้มาก เพราะผู้ป่วยมักมองโลกในแง่ร้าย และมักจะลืมประเด็นนี้อยู่เรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังต้องให้กำลังใจให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้สม่ำเสมอ เพราะความที่ยาออกฤทธิ์ช้าทำให้ผู้ป่วยอาจเข้าใจผิดว่ายานี้ไม่ได้ผล
ในรายที่เป็นมากและมีความคิดจะฆ่าตัวตาย ญาติควรเก็บสิ่งที่จะใช้ในการฆ่าตัวตายได้ เช่น เชือก มีด กรรไกร ยาฆ่าแมลง อาวุธต่าง ๆ ให้มิดชิดและคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ในรายที่มีความมุ่งมั่นที่จะฆ่าตัวตายมาก ๆ ควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
ขอบคุณข้อมูลจาก Kapook
ทีมงาน กอล์ฟการช่าง ให้บริการ ติดตั้งหลังคาไวนิล , ติดตั้งหลังคาเมทัลชีท , ติดตั้งหลังคาแผ่นใส , ติดตั้งมุ้งลวด , ติดตั้งเหล็กดัด , ติดตั้งประตูรีโมท , เปลี่ยนแผ่นโครงหลังคา ,ติดตั้งลูกหมุ่น , ติดตั้งประตูรีโมท , ติดตั้งรางน้ำฝน , ติดตั้งปล่องดูดควัน , ติดตั้งพื้นไม้ ,ไม้คอนวูด , conwood
สอบถามเพิ่มเติม โทร. 083-7089990 หรือ โทร. 098-9539662 LINE : golf99na